กว่าจะมาเป็น… โคนไอศกรีม ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
top of page
  • พล Sweet Creations

กว่าจะมาเป็น… โคนไอศกรีม ไม่ใช่เรื่องธรรมดา





กว่าจะเป็น… โคนไอศกรีม ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

.

วันนี้ขายดี วันนี้ขายให้หมด ไอศกรีม สด ๆ จะขายให้หมดวันนี้ แต่โธ่! จะทำอย่างไรดี ไอศกรีม ที่เหลือยังมี แต่ถ้วยแก้วตัวดี ดันมีไม่พอ


ณ ย่านวอลล์สตรีท ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1896 ขณะที่ อิตาโล มาร์คิโอนี่ (Italo Marohiony) ชาวอิตาเลียนที่อพยพมาลงหลักปักฐานในเมืองโฮโบเกน รัฐนิวเจอร์ซีย์ กำลังเข็นรถขายไอศกรีมจิลาโต้โฮมเมด (Gelato Homemade) รสมะนาวอย่างสบายอารมณ์ จู่ ๆ มาร์คิโอนี่ก็สังเกตพบว่า


“ธุรกิจไอศกรีมของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เสียแต่ว่าเราต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับค่าถ้วยที่ตกแตก หรือหากถ้วยไม่แตก ลูกค้าบางคนก็ลืมคืนถ้วยมาให้เรา ทำให้มีไม่พอใช้ ต้องซื้อเพิ่มเป็นประจำ”

การยอมจำนนกับปัญหา แม้จะเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยไม่ใช่นิสัยของนักการค้าหัวก้าวหน้าอย่างมาร์คิโอนี่


เมื่อกำไรเริ่มหายไปวันละหลายดอลลาร์ มาร์คิโอนี่ไม่นิ่งนอนใจ เขาคิดวิธีแก้ปัญหาไปต่าง ๆ นานา เริ่มจากนำกระดาษมาเป็นภาชนะใส่ไอศกรีมแทนถ้วยแก้ว แต่ไม่ได้ผลดีนัก เพราะเมื่อเจอไอศกรีมเย็นเฉียบ กระดาษก็มักเปื่อยยุ่ยจนทำให้ไอศกรีมเสียรสหมดอร่อย


มาร์ดิโอนี่ไม่ยอมให้ไอเดียของตนเองสะดุดอยู่เพียงเท่านั้น เขายังคิดค้นหาทางแก้ปัญหาเรื่องภาชนะใส่ไอศกรีมของตนเองอย่างไม่ลดละ ในที่สุด มาร์คิโอนี่ก็ปิ๊งไอเดียการประดิษฐ์ถ้วยไอศกรีมที่สามารถรับประทานไปพร้อม ๆ กับไอศกรีมได้ด้วย


ว่าแล้วมาร์คิโอนี่ก็อบวอฟเฟิลเป็นแผ่นบาง ๆ พับเอียงเป็นรูปถ้วยกันแบนเรียบ เกิดเป็นโคนใส่ไอศกรีมขึ้นมา มาร์คิโอนี่ได้จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์ “ขนมวอฟเฟิลแผ่นเรียบที่เอียงให้เป็นถ้วยเล็ก ๆ” ซึ่งฟังดูแล้วก็คือโคน (cone) ใส่ไอศกรีมสิทธิบัตรของเขาได้รับอนุมัติในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1903


อย่างไรก็ดี แม้มาร์คิโอนี่จะมีสิทธิบัตรการเป็นผู้ประดิษฐ์โคนใส่ไอศกรีม แต่ต่อมาก็มีบุคคลอื่น ๆ พยายามอ้างสิทธิ์ว่าเป็นผู้ประดิษฐ์โคนใส่ไอศกรีมอีกจำนวนมาก


การอ้างสิทธิ์ที่ฮือฮาที่สุดเกิดขึ้นในช่วงเชนต์หลุยส์เวิลด์แฟร์ (St. Louis World’s Fair) ในปี ค.ศ. 1904 ที่มีงานออกร้านจำหน่ายไอศกรีมกว่าห้าสิบร้าน ในยุคนั้นพ่อค้าไอศกรีมมักจะจำหน่ายไอศกรีมโดยการใส่ถ้วย แต่เนื่องจากมีผู้ซื้อจำนวนมาก จู่ ๆ ถ้วยใส่ไอศกรีมของพ่อค้าชื่อชาร์ลส์ เมนเซส (Charles Menches) ก็เกลี้ยงตะกร้า ทั้ง ๆ ที่ยังมีไอศกรีมเหลืออยู่จำนวนมาก ทันใดนั้นเองเมนเซสบังเอิญเหลือบไปเห็นซาลาเบีย (zalabia) ขนมปังอบโรยน้ำตาลสัญชาติตะวันออกกลางของเออร์เนสต์ ฮัมวี่ (Ernest Hamwi) พ่อค้าชาวซีเรีย เขาจึงเหมาซื้อซาลาเบียบาง ๆ มาม้วนเป็นโคน ตักไอศกรีมใส่ลงไปแล้วก็ขายไอศกรีมต่อไปจนงานเลิก… นั่นคือเหตุผลที่หลายคนระบุว่า ฮัมวี่คือผู้ประดิษฐ์โคนใส่ไอศกรีมตัวจริง


แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ให้กำเนิดเจ้าโคนใส่ไอศกรีมนี้ขึ้นมา ความพยายามของมนุษย์ที่ทำให้มีภาชนะกินได้ชนิดนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า หากมนุษย์เรารู้จักเรียนรู้ สร้างสรรค์ และจัดการกับปัญหาโดยไม่มองข้าม สิ่งเล็กน้อยใกล้ตัว ปัญหาปวดสมองก็สามารถแก้ให้ลุล่วงได้ง่าย ๆ


ในยามที่คุณกำลังหาทางแก้ปัญหาหรือคิดสร้างสรรค์งานต่าง ๆ หากมองไปไกลแล้วคุณอาจมีโอกาสได้จดสิทธิบัตรในการประดิษฐ์คิดค้นอะไรเก๋ ๆ สักอย่างเป็นของตัวเองบ้างก็ได้



ไม่ว่าใครจะเป็นผู้คิดประดิษฐ์โคน ภาชนะสำหรับใส่ไอศกรีมที่สามารถกินได้ แต่ต้องขอบคุณมาก ๆ ไม่เช่นนั้น เราคงไม่มีกินไอศกรีมใส่โคนได้อร่อยจนถึงทุกวันนี้

bottom of page