ซื้อ Franchise VS ทำร้านเอง สิ่งที่ต้องคิด ก่อนตัดสินใจลงทุน
top of page
  • พล Sweet Creations

ซื้อ Franchise VS ทำร้านเอง สิ่งที่ต้องคิด ก่อนตัดสินใจลงทุน

คำถามยอดฮิตที่ผมได้รับจากลูกค้าเสมอ "ซื้อแฟรนส์ไชส์ หรือ ทำร้านเอง" แบบไหนคุ้มกว่า ผมจะขออธิบายในแต่ละแบบให้ฟังครับ

การซื้อ Franchise (แฟรนไชส์)

เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่งานประจำอยู่แล้ว หรือไม่มีเวลาศึกษาการธุรกิจที่อยากจะทำอย่างลึกซึ้ง และมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่คุณสนใจเป็นอย่างมาก หรือมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจหลายอย่างโดยเปรียบการซื้อแฟรนไชส์ คือการลงทุนอย่างนึง

.

ข้อดี : คุณสามารถเริ่มกิจการได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มาก่อน แต่ต้องมีความพร้อมในการลงทุนทำธุรกิจ รวมถึงเวลาที่จะมาบริหารงานในช่วงแรกๆพอสมควร

สิ่งที่คุณจะได้รับ :

+ ความรู้ในระบบการบริหารจัดการทั่วไปของแบรนด์ : แบรนด์ที่แข็งแรงส่วนใหญ่ จะเติบโตขยายกิจการไปหลายสาขา และเป็นที่รู้จัก นั่นหมายถึงแบรนด์เหล่านั้น ต้องผ่านการบริหารจัดการแบรนด์อย่างเข้มข้น จนสามารถขยายสาขาจนมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับได้ และความรู้ส่วนหนึ่งเหล่านั้น ก็จะถูกถ่ายทอดมายังผู้ซื้อแฟรนไชส์เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการหน้าร้าน เช่น การจัดการพนักงาน ระบบบัญชี ระบบนับสต็อก ให้เป็นไปตามมาตราฐานที่วางไว้

+ ทำเลที่ตั้ง : เป็นที่แน่นอนว่า แบรนด์ที่มีชื่อเสียงประมาณหนึ่งขึ้นไป มักจะได้รับการเสนอพื้นที่ดีๆ ไม่ว่าจะในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอล หรือพื้นที่ Stand Alone ต่างๆ ถ้าคุณสนใจในแบรนด์ไหน แล้วลองสอบถามไป ไม่แน่คุณอาจจะโชคดีได้พื้นที่ Prime ในช่วงเวลานั้นก็เป็นได้

+ ได้รับการ Supply สินค้าที่ต้นทุนถูกกว่า : แบรนด์ที่มีหลายสาขา มักจะได้ประโยชน์จากการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นจำนวนมาก จนเป็น Economy of Scale (ผลิตสเกลที่ใหญ่พอจนได้ต้นทุนที่ถูกลง) คุณจะไม่ต้องเสียเวลาไปหาซื้อหรือสั่งวัตถุดิบหลักตามที่ต่างๆ ซึ่งผมบอกเลย สำหรับผู้เริ่มต้น การหาซื้อของ มันเป็นอะไรที่เหนื่อยมากจริงๆครับ

+ การทำ Marketing : แบรนด์ทั่วไปจะมีส่วนช่วยในการทำการตลาดให้หน้าร้านอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับฝีมือ และการลงทุนของแต่ละแบรนด์ การทำการตลาดออกมาจากจุดเดียวของแบรนด์ มันค่อนข้างจะง่าย และประหยัดงบประมาณ รวมถึง เทคนิคการทำต่างๆที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ ก็จะเป็นประโยชน์กับหน้าร้านเช่นกัน

+ การ Deal กับระบบ Delivery ต่างๆ : ระบบ Delivery สมัยนี้ ถือว่าสำคัญ แบรนด์ใหญ่มักจะได้รับการติดต่อดีลที่ดี กับเจ้า Delivery ต่างๆ ได้ง่ายกว่าการที่เราจะไปทำเองอย่างมาก

ข้อเสีย :

+ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาอาจไปไม่รอด เพราะคุณไม่มีความรู้เรื่องแฟรนไชส์ และไม่ได้ทำการศึกษาเจ้าของแบรนด์อย่างรอบคอบ รวมถึงการสร้างความหวังที่เกินจริงของแบรนด์ ทำให้ขาดการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง

+ อาจได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ตรงใจ หรือตรงกับบุคลิกภาพของคุณ เนื่องจากแฟรนไชส์ที่ซื้อมานั้น มองว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพียงแค่มีเงินทุนซื้อมา แต่อาจทำให้บริหารธุรกิจไปไม่รอด เพราะไม่ชอบธุรกิจที่ทำ

+ คุณอาจไม่ใช้ความตั้งใจ หรือใช้ความพยายามบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ เพราะคิดว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมา ประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว อาจทำให้ไม่เอาใจใส่ ไม่ทุ่มเทเวลาบริหารจัดการ

+ คุณอาจต้องปฏิบัติตามระบบงานของแฟรนไชส์นั้นๆ อย่างเคร่งครัด ไม่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามระบบแฟรนไชส์ ก็อาจทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ซื้อมาไปไม่รอด หรือผิดสัญญาได้

+ ถูกจำกัดในด้านการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ไม่จำเป็นจากแบรนด์มากเกินไปจนทำให้ต้นทุนสูง กำไรต่ำ

+ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าสิทธิ์ และค่าจัดการในรูปแบบของ Franchise Fee ก่อนเริ่มกิจการ โดยที่ยังไม่ทราบว่ากิจการจะมีกำไรหรือไม่

การเปิดร้านเอง

เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ที่มีความมุ่งมั่น มีเวลา และผู้ที่มีใจรักในการทำธุรกิจจริงๆ มากกว่าไปนั้น หลายท่านอาจจะไม่มีพื้นฐานในการทำธุรกิจมาก่อน แต่ท่านควรที่จะต้องผ่านการทำงานในระดับองค์กร หรือ บริษัท มาประมาณหนึ่ง หรือ เริ่มจากการทำธุรกิจเล็กๆแล้วมองเห็นช่องทางในการเอาชีวิตรอด สำหรับท่านที่มีพื้นฐานการทำธุรกิจ หรือมีธุรกิจอยู่แล้ว อาจมองว่าการเปิดร้านเอง เป็นการเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจอย่างนึง โดยใช้ Resource ที่ตนเองมี

ข้อดี :

+ ความอิสระทางความคิดในการออกแบบ คิดค้น และทำทุกอย่าง เป็นนายของตัวเอง เมื่อมาทำกิจการของตัวเอง คุณก็จะได้เป็นนายของตัวเอง นั่นก็คือ เมื่อคุณคิดอะไรได้ คุณจะต้องสั่งตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่คิดออกมาตั้งแต่ทำของเอง ขายเอง เวลาได้กำไรหรือขาดทุนก็จะเป็นของคุณเอง ซึ่งทำให้คุณมีอำนาจในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่ สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ และแน่นอนก็จะทำให้กิจการของคุณได้รับประโยชน์สูงที่สุด

+ ได้ใช้ไอเดียบริหารธุรกิจเต็มที่ การเป็นเจ้าของธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นการทดสอบฝีมือของตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเมื่อเกิดปัญหา ก็จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้น การเป็นเจ้าของกิจการ จะทำให้คุณได้ฝึกทักษะด้านการบริหาร ฝึกความอดทน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของคุณเกือบจะทุกด้านก็ว่าได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะผ่านปัญหาและหาวิธีแก้จนทำให้ทุกวันนี้สามารถประสบความสำเร็จได้

+ มีโอกาสร่ำรวยเร็วกว่า การเป็นเจ้าของธุรกิจ มีโอกาสที่จะร่ำรวยเร็วกว่าการเป็นพนักงานประจำทั่วไป เพราะธุรกิจเป็นของตัวคุณเอง คุณสามารถกำหนดอัตราค่าแรง ค่าจ้างให้กับพนักงานหรือลูกจ้างของคุณได้เอง ดังนั้น ยอดการขาย และรายได้ต่างๆ ที่เข้ามาในบริษัท หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างในแต่ละวัน แต่ละเดือน เงินที่เหลือก็จะเป็นของคุณเอง สามารถนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณจะพบการเติบโตที่ก้าวกระโดด เช่นการสร้างแบรนด์ของคุณเอง และสามารถขายแฟรนไชส์ ขายกิจการเพื่อทำกำไรได้เองในอนาคต

+ มีอำนาจในการสร้างทีมงาน การเป็นเจ้าของธุรกิจ แน่นอนว่าคุณจะต้องเป็นคนคัดเลือกบุคลากร พนักงาน ลูกจ้าง เข้ามาร่วมทำงานกับคุณด้วยตัวเอง เพราะคุณจะได้รู้ว่าจะเอาคนแบบไหนทำงานด้านไหน ตำแหน่งไหน ทุกอย่างเป็นอำนาจของคุณที่จะตัดสินใจ การเป็นเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกเอาคนที่ตัวเองชอบมาร่วมทำงานได้ ไม่เหมือนกับการเป็นลูกจ้าง ที่ต้องทำงานกับคนที่ไม่ถูกใจ

+ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เจ้าของธุรกิจทุกคน มักภาคภูมิใจกับการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เพราะเกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถ น้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แม้ว่าเราจะเริ่มจากเล็กๆ ก็ยังมีความภูมิใจ ได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก ตนเองชอบ ถูกกับนิสัยและรักงานด้านนี้ เท่ากับเป็นพลังให้เราต้องทำและขยายให้ใหญ่โตขึ้นให้ได้ เกิดความมั่นคงได้โดยไม่ต้องรอรับเงินเดือน

+ เปิดโอกาส และช่องทางใหม่ๆ จากการลองผิดลองถูก ขยาย และแตกสายการผลิตของคุณออกไปในช่องทางต่างๆ

+ การควบคุมและคัดเลือกวัตถุดิบด้วยตนเอง และการที่คุณสามารถเปลี่ยน Supplier มากเท่าไรก็ได้ตามที่คุณต้องการ

+ เพิ่มลดเมนู หรือ คิด Product ใหม่ๆ ได้โดยทีไม่ต้องรอการอนุมัติ

ข้อเสีย :

+ ต้องใช้เงินทุนสูงช่วงเริ่มต้น การเป็นเจ้าของธุรกิจ ช่วงการเริ่มต้นกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ในสร้างธุรกิจให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนในการจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ การสร้างแบรนด์ให้คนรับรู้ การทำตลาดเพื่อขายสินค้า เงินทุนหมุนเวียนในการจ้างพนักงาน ถ้าคุณตัดสินใจลงทุนไม่ถูกต้อง ก็อาจต้องสูญเสียเงินทองทั้งหมดที่ลงไปกับธุรกิจ เรียกว่าจมไปกับธุรกิจ

+ ต้องทำงานหนัก การเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะในระยะแรกที่ก่อตั้งธุรกิจ คุณจะต้องอดทน ต่อสู้ ใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องทำทำงานหนัก ความสบายที่สามารถนอนหัวค่ำตื่นสาย ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วพาคราอบครัวไปเที่ยวนั้น ขอให้คุณตัดทิ้งไปได้

+ เสี่ยงต่อการขาดทุน การเป็นเจ้าของธุรกิจต้องยอมรับความเสี่ยงในข้อนี้ โดยเฉพาะช่วงการเริ่มต้นทำธุรกิจในระยะแรก พูดได้เลยว่ายังไม่มีรายได้ที่แน่นอน มิหนำซ้ำธุรกิจอาจขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากธุรกิจหรือสินค้าของคุณไม่มีตลาดรองรับ ในเวลา 3-5 ปี ยังต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากเงินทุนหมุนเวียนไม่มากพอ และธุรกิจไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

+ ต้องลงมือทำเองทุกอย่างช่วงแรก การเป็นเจ้าของธุรกิจ ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร การได้ลงมือทำเองเท่าที่จะทำได้ ถือได้ว่าเท่ากับเป็นการเรียนรู้ไปในตัว และเป็นการป้องกันข้อผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวคุณ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณรู้ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับธุรกิจคุณแล้ว โอกาสที่คุณจะถ่ายทอดให้ลูกน้องได้ง่าย และถูกโกงก็ยากขึ้น

+ ต้องขายสินค้าและแก้ปัญหาต่างๆ เอง การเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเล็กๆ เริ่มแรกคุณอาจจะต้องขายสินค้าหรือบริการด้วยตัวเอง เพราะคุณยังไม่มีลูกจ้าง กระบวนทางธุรกิจต่างๆ คุณจะต้องทำด้วยตัวเองทั้งหมด บางครั้งถ้าเกิดปัญหาขึ้นกับลูกค้า คุณก็จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากการเป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

+ ต้องดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด การเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณจะต้องมีภาระอันหนักหน่วงกว่าเป็นลูกจ้าง ธุรกิจขาดทุนก็ต้องดิ้นรนหาหยิบยืมเงิน กู้เงินจากที่อื่นมาหมุนเวียนใช้ในบริษัท

สุดท้ายนี้ การที่คุณจะเลือกซื้อแฟรนไชส์ หรือ ลงทุนเอง มันจะมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ และต้องมีช่วงเวลาและโอกาสที่ดีอีกด้วย ซึ่งไม่มีใครบอกได้ ฉนั้น คุณควรต้องคิด วิเคราะห์ และศึกษาข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงลงมือทำ ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ดังเช่น สถานการณ์ COVID19 การเมือง และวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ

bottom of page